วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรคชอบเปรียบเทียบ ลดการเปรียบเทียบลงแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น

โรคชอบเปรียบเทียบ......

การเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เรามักจะอยากรู้ว่าคนอื่น
โดยเฉพาะเพื่อนฝูงของเราได้ดิบได้ดีไปถึงไหนแล้ว ตอนนี้เขาขับรถอะไร
ได้ตำแหน่งระดับไหนแล้ว ลูกๆ ของเขาเรียนโรงเรียนอะไร สอบเข้าอะไรได้

แล้วเอามาเปรียบเทียบกับตัวเราเองว่าเราดีกว่าหรือด้อยกว่า และก็เป็นธรรมดาที่ใครๆ
ก็อยากจะดีกว่าคนอื่น แต่หลายๆ ครั้งการเปรียบเทียบทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราด้อยกว่าคนอื่น

ความรู้สึกแบบนี้มักเกิดเมื่อเราเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีดีมากกว่าเรา
โดยเฉพาะเป็นการมีในสิ่งที่เราอยากมี แต่ยังไม่มี หรือยังมีไม่พอ และโดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่า
คนคนนั้นเป็นคู่แข่งด้วย เช่น เราคงไม่รู้สึกด้อยเวลาได้ข่าวนักเรียนไทยได้เหรียญทองชีวโอลิมปิค
เราชื่นชมว่าเขาเก่ง แต่ความรู้สึกอาจต่างกัน ถ้านักเรียนคนนั้นเป็นลูกของญาติของเรา และเรียนชั้นเดียวกับเรา

เราเปรียบเทียบตัวเราในปัจจุบันกับอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ แต่ก่อนเราอาจจะเป็น
นักกีฬาที่เก่งกาจแต่เดี๋ยวนี้ร่างกายอาจจะไม่ไหวแล้ว แต่ก่อนเราอาจเคยเรียนเก่งมากแต่เดี๋ยวนี้
ด้วยปัญหาต่างๆ ทำให้เราเรียนได้แค่ปานกลาง แต่ก่อนเราเคยมีเงินมากมายแต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ
แบบนี้ทำให้เรามีหนี้มากมาย ถ้าเราหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องเหล่านี้เราก็จะรู้สึกแย่ รู้สึกว่าเรากำลังตกอับ
และมักจะคิดไปเองว่าคนอื่นก็มองว่าเรากำลังตกอับด้วย

เราเปรียบเทียบปัจจุบันกับความฝันที่ยังไม่เป็นจริง เช่น อยากมีบ้านสวยๆ
แต่ก็ยังไม่มีสักทีทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จ เป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่น

หลายๆ ครั้งเราก็อยู่ของเราดีๆ แต่คนอื่นชอบเอาเราไปเปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่งแล้ว
ก็มาตัดสินว่าเราด้อยกว่า และมาพูดให้เราได้ยินด้วย เช่น บรรดาแม่ๆ มักจะเอาลูกของคนอื่น
ที่เรียนเก่งมาเปรียบเทียบกับลูกของตัวเองแล้วบ่นให้ลูกฟัง เพราะหวังจะกระตุ้นให้ลูกเกิดความมานะ
เอาอย่างคนเก่งๆ นั่น แต่ลูกอาจกลับเกิดความรู้สึกต่ำต้อยด้อยกว่าคนอื่น บางครั้งการที่คนอื่น
เอาเราไปเปรียบเทียบ แล้วมาพูดให้เราได้ยิน อาจเป็นการเหน็บแนมไม่ใช่ความหวังดีแบบนี้ก็ได้

การเปรียบเทียบนั้น บางครั้งก็ช่วยให้เราพัฒนาตนเองขึ้นมา ถ้าเรารู้สึกด้อยกว่าแล้วเรา
พยายามปรับปรุงตนเอง หรือเมื่อเราอยากเป็นแบบบุคคลที่เราชื่นชมแล้วพยายามพัฒนาตนเอง
หรือพยายามเอาชนะคำสบประมาทของคนอื่น แต่ถ้าการเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้
เลิกพยายามต่อ หรือเกิดความคิดหาทางกลั่นแกล้งทำลายคู่แข่งแทนที่จะพยายามปรับปรุงตนเอง
หรือยอมทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อให้มีอย่างคนอื่นเขา แบบนี้ท่าทางเราจะ เกิดภาวะการเปรียบเทียบที่เป็นพิษเสียแล้ว

การพบว่าจริงๆ แล้วเราด้อยกว่าคนอื่นนั้นเป็นความเจ็บปวด แต่การเปรียบเทียบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
เกินจริง และเป็นไปในแง่ลบนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่า ดังนั้นเมื่อรู้สึกตัวว่าเรากำลังเจ็บปวดจากการเปรียบเทียบ
อยู่ให้ลองถามตัวเองว่า กำลังเปรียบเทียบอะไร เช่น ความสวย ความเก่ง ความรวย ความเด่นดัง ฯลฯ
เพราะบางครั้งเราจะ "มึน" แยกประเด็นไม่ออกแล้วสรุปรวมว่าตัวเราโดยรวมทั้งหมดนั่นแหละที่ด้อย
สู้เขาไม่ได้ ข้อมูลแม่นแค่ไหน รู้แน่หรือเดาเอา เรารู้แน่แล้วหรือรถที่เขาขับน่ะ ใช่รถของเขา
เพื่อนเราไปเรียนเมืองนอกเพราะเก่งหรือเพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมืองไทยไม่ได้

เรารู้หมดทุกแง่ทุกมุมหรือยัง? หรือเห็นแต่แง่ดีของเขาเพียงด้านเดียว
เวลาเห็นคนที่ร่ำรวยเรามักคิดว่าเขาคงจะมีความสุข ที่จริงแล้วคนที่ร่ำรวยไม่จำเป็นจะต้องมีความสุขเสมอไป
คนที่มีแฟนแล้วหรือคนที่ "ขายออก" แต่งงานแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความสุขมากกว่าสาวโสด
คนที่มีเงินเหลือเก็บมากเพราะประหยัดมากๆ ก็ไม่น่าจะมีความสุขเท่าไร โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกเป็นภรรยา

เมื่อพิจารณาความเป็นจริงแล้วลองคิดต่อไปว่า เขาดีกว่าเราแล้วมันจะเป็นอะไรไป
ถึงเขาจะมีเงินมากกว่า แต่เราก็ยังมีเงินเท่าเดิม เงินที่เรามีอยู่มันไม่ได้หดหายไป ถึงคนข้างบ้านจะสวยกว่า
เรามันก็ไม่ได้ทำให้เราสวยน้อยลง เราก็ยังคงเป็นคนสวยคนหนึ่งเหมือนกัน

ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เราพร้อมที่จะแลกด้วยอะไรบางอย่าง
เหมือนที่เขาทำหรือไม่ เพื่อนของเราอาจจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาดูแลลูก
ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาไปว่ายน้ำหลังเลิกงานจึงมีเงินขนาดนั้นได้ จะทำอย่างนั้นหรือไม่

เปลี่ยนวิธีเปรียบเทียบเสียใหม่ แทนที่จะจมอยู่กับความสิ้นหวัง
ต่อไปเราอาจเปลี่ยนวิธีเปรียบเทียบเสียใหม่ โดยเปรียบเทียบตัวเราตอนนี้กับตัวเราในอีก 1 ปีข้างหน้า
ถ้าเราลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น ออกวิ่งสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 1 ปีผ่านไป
เราน่าจะหุ่นดีขึ้นถึงแม้ว่าจะไม่ดีขนาดคนข้างบ้านก็ตาม

การเปรียบเทียบจะเป็นปัญหาเมื่อมันไม่สมเหตุผล มากเกินไป บ่อยเกินไป
ลดการเปรียบเทียบลงแล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น



ที่มา : ผศ.น.พ.สเปญ อุ่นอนงค์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น