วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันที่ถอดตัวกู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

582412119023501.jpg
 
เสก สรรค์ ประเสริฐกุล ให้สัมภาษณ์ถึงตัวกูของกูในวันที่ถอดหมวก ทางรายการพื้นที่ชีวิต สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ตอนวันที่ถอดตัวกู ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : สิ่ง ที่ผู้คนจดจำอาจารย์ได้มากที่ สุด คือภาพการเป็นผู้นำนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 สิ่งนั้นส่งผลต่อตัวอาจารย์ของอาจารย์ หรือส่งผลต่อตัวกูของกูอย่างไรบ้างครับ
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากและมีผลต่อประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทย ซึ่งผลกระทบที่มีต่อตัวผม คนหนุ่มคนหนึ่งมันก็มากตามไปด้วย อาจจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า defining moment มันสร้างคำนิยามเกี่ยวกับตัวผม เริ่มจากคนอื่นมองผมอย่างไร  จากนั้นผมก็ดูดซับมาเป็นการมองตัวเองว่าผมมีบทบาทเช่นนี้ ควรจะทำสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการหาผลประโยชน์หรือลาภยศ สรรเสริญ แต่มันลึกไปมากกว่านั้นอีก คือคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ในการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย สร้างประเทศไทยให้เป็นไปตามอุดมคติ แล้วพาผมไปลำบากลำบนในอีกหลายปีต่อมา
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : หลังจากวันนั้นอาจารย์เดินทางเข้าป่าต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย แล้ววันนึงอาจารย์ก็เดินทางออกจากป่า และเขียนไว้ในหนังสือหลายเล่มว่าเป็นเพราะความพ่ายแพ้ ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นมันส่งผลกระทบต่ออัตตาตัวกูของกูของอาจารย์อย่างไรบ้าง ครับ
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ส่ง ผลมาก เพราะในช่วงแรกเรารู้สึกว่าตัวตนที่เราคิดว่าเป็นของเรา มันหายไป หรือว่าแตกสลาย ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นนักรบ ที่ไม่รู้จะไปรบกับใคร ความรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำสิ่งต่างๆ เพื่อประชาชน ก็ไม่มีบทบาทอะไรให้ทำ เพราะตัวเราเองถูกตราไว้แล้วว่าเป็นอดีตผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เราเคยรังเกียจได้ มันก็เลยทำให้ผมต้องออกไปแสวงหาตัวตนใหม่ ไปเยียวยาตัวเองตามป่าเขา หรือท้องทะเลเป็นเวลาหลายปี
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : อาจารย์ใช้ชีวิตอย่างไร ในช่วงที่รู้สึกว่ากำลังแสวงหาตัวตนใหม่ ท่ามกลางความพ่ายแพ้ในสภาวะจิตใจของตัวเอง
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : อันดับแรกเพื่อรักษาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าใช่ตัวเอง ก็คือไม่เข้าไปยุ่งกับสังคมมากนัก ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเคยวิจารณ์ หรือกระทั่งเคยประณาม ซึ่งทำให้ผมมีที่เหลือไม่มาก นอกจากเวลาทำงานเขียนหนังสือ สอนหนังสือแล้ว ผมก็เลยใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขา ท้องทะเลค่อนข้างมาก ขณะที่ไปสัมผัสกับป่าเขา ท้องทะเล ก็ได้ความรู้สึกใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึกว่ามันมีสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามากนัก และบางทีก็เกิดคำถามว่าสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเองมันอาจเป็นแค่ภาพลวงตา
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ช่วงนั้นเหมือนตัวตนของอาจารย์ยังไม่ได้สลาย หรือว่าหายไป แต่เหมือนว่ามีเกราะป้องกันตัวมากขึ้น อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกราะเหล่านั้นเริ่มละลายหายไปครับ
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล :  ช่วงนั้นตัวตนไม่ได้สลายไปหรอก แต่ว่ามันคลายความตึงเครียดที่จะยืนยันตัวตนเก่าๆ แล้วเกิดคำถามใหม่ๆ ซึ่งก็ยังมุ่งไปในทิศที่เป็นอัตตาอยู่ คือยังคิดอยู่ว่าชีวิตจะสูงส่งจะดีงามด้วยวิธีใด หนทางไหน จึงจะถูกต้องที่สุดสำหรับตัวเราเอง พอช่วงอายุประมาณ 50 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มมองเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เรายึดถือกันมามันเป็นมายาทั้งนั้น อันที่จริงมนุษย์เรา มันไม่มีตัวตนที่เรายึดถือกัน มันเป็นการปรุงแต่งมาจากหลายปัจจัย เมื่อเราไปยึดถือตรงนั้นแล้ว ก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างเรากับตัวเราเอง ระหว่างเรากับผู้อื่น สุดท้ายมันกลายเป็นความทุกข์ และไอ้ความทุกข์เหล่านี้ ทำให้ผมเริ่มสำนึกตื่นขึ้นมาว่า บางทีอาจจะถึงเวลาต้องวางเรื่องของตัวตนลงไป
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : เป็นด้วยวัย อายุ จังหวะเวลา หรือมีองค์ประกอบอื่นที่เป็นจุดพลิกผัน
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : คงมีองค์ประกอบหลายอย่าง อันดับแรก เราอาจเห็นโลกมาหลายๆ มิติ ซึ่งก็มีวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับต่อมา ก็คือมีเหตุการณ์หลายๆ อย่างในชีวิตที่นำความทุกข์มาให้เราแล้วสั่งสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เราคิดว่าถ้ายังฝืนไปตามหนทางเดิมที่จะบอกตัวเองว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ ก็จะทำให้เราเผชิญปัญหาในลักษณะที่มุ่งมั่นจะเอาชนะ เอาชนะอุปสรรค เอาชนะความขัดแย้ง เอาชนะตัวเองในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเราวางตัวเองซะแล้ว ประเด็นเหล่านี้จะหายไปหมด เรารู้สึกเบา รู้สึกโล่งขึ้นมา ในช่วงนึงของความทุกข์ ความที่มันทนไม่ไหว ผมเลยพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตาโดยบังเอิญ ก็คือปล่อยวางทุกอย่าง วันนี้ไม่คิดอะไรแล้ว ช่วงแรกอยู่นิ่งๆ ไม่คิดด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร ก็เลยกลายเป็นภาวะภาวนาโดยไม่รู้ตัว มาค้นคว้าภายหลังจึงรู้ว่า นั่นคือที่เรียกว่าภาวนา
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : อะไรคือความทุกข์ใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ความทุกข์ทั้งหมดมาจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งกับตัวเอง ความขัดแย้งกับผู้อื่น  ท้ายที่สุดมันนำมาสู่ความขัดแย้งกับตัวเอง ขัดแย้งกับคนใกล้ตัว ในที่สุดก็เกิดการพลัดพราก สิ่งเหล่านี้ มันทำให้ผมต้องหาวิธีตอบคำถามของตัวเองใหม่หมด จนมาพบว่าการจะตอบคำถาม บางครั้งมันจะต้องเปลี่ยนคำถามด้วย คำถามบางอย่างมันตอบไม่ได้เพราะตั้งคำถามไปผิดทาง  เมื่อเราวางคำถามเก่าๆ ทำให้เราค้นพบอะไรใหม่ๆ มากขึ้น
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : อาจารย์ตั้งคำถามใหม่ กับชีวิต กับการพลัดพรากของชีวิตไว้ว่ายังไงบ้างครับ
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ยกตัวอย่างคำถามเก่าๆ เช่นว่าชีวิตมันมีคุณค่าตรงไหน ชีวิตจะดีงามจะสูงส่งกว่าธรรมดาได้อย่างไร พอวางคำถามเหล่านี้ไป เราก็พบว่าชีวิตไม่ใช่เรื่องแบบนั้น ชีวิตไม่ใช่เรื่องการปรุงว่าอะไรสูงอะไรต่ำ อะไรมีคุณค่า อะไรไร้คุณค่า ชีวิตก็คือชีวิต มันเคลื่อนคล้อยไปตามกฎเกณฑ์ของอนิจจัง เราต้องยอมรับความเป็นจริงตรงนี้ ในภาษาอังกฤษเขาจะใช้ศัพท์ธรรมะว่า surrender ผมคิดว่าพอแปลเป็นไทย อาจจะหมายถึง การมอบตัวให้กับอะไรสักอย่างที่ใหญ่กว่าเรา หรือว่าการยอมต่อกฎเกณฑ์ของความจริงโดยไม่มีข้อกังขา เพราะฉะนั้นมันทำให้เราเผชิญทุกอย่างได้อย่างสงบ ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปต้าน แค่เผชิญทุกอย่างได้อย่างสงบก็เป็นการดับทุกข์ด้วยตัวของมันเองแล้ว
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : อาจารย์เขียนหนังสือเรื่องวันที่ถอดหมวก แล้วอธิบายความหลายอย่าง และมีคนสงสัยว่าอาจารย์ถอดหมวกจริงๆ หรือมีหมวกบางใบที่แอบเก็บเอาไว้สวมใส่
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ในแง่ติดหลงอยู่กับคำนิยามต่างๆ ของตัวเอง อันนี้ไม่มีเลย ส่วนใหญ่ของชีวิต ผมไม่ค่อยได้คิดว่าผมเป็นใคร ส่วนสังคมจะสมมติให้ผมเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องของสังคม แต่ว่าในฐานะของปุถุชนที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม ในส่วนที่มันเป็นกิเลส ส่วนที่เป็นตัวตนในลักษณะของโลภ โกรธ หลง ก็ยังเหลืออยู่ โลภอาจจะไม่มากเท่าไหร่ แต่โกรธนี่ยังเหลือพอสมควร หลงนี่อาจจะเหลือน้อยหน่อย สิ่งเหล่านี้จะต้องขัดเกลาต่อไป เพราะเราเริ่มมีสติ เริ่มรู้ทันตัวเองมากขึ้น มันเป็นเส้นทางที่เราตัดสินใจว่าจะเดินไปในทิศทางนี้
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ทุกวันนี้ อะไรที่กระตุ้น ปลุกเร้าความโกรธของอาจารย์
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : มนุษย์ ผมยังมีโทสะกับคนที่ไม่เคารพกติกา คนที่ข่มเหงรังแกคนอื่น คนที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นในชีวิตประจำวัน ไอ้ตรงนี้มันกระตุ้นผม แต่ว่าโชคดีที่เดี๋ยวนี้โกรธแล้วรู้ตัว คือมันจะโกรธอยู่ได้ไม่กี่วินาที แล้วก็หายไป แต่รู้ว่าเรายังไปไม่ถึงไหน
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาอาจารย์โกรธในความอยุติธรรมทั้งหลาย คนก็อาจจะเห็นภาพอาจารย์ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือเรียกร้องสังคมที่มันดีงาม มีความเสมอภาคมากขึ้น  แต่วันนี้คนถามว่า อาจารย์เสกสรรค์หายไปไหนในตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล :  ผม ไม่ได้หายไปไหน ผมอยู่ตรงนี้ แต่ว่าอยู่ด้วยสายตาที่ต่างจากเดิม ซึ่งในทางธรรมเขาเรียกว่า ผมพยายามที่จะข้ามพ้นทวิภาวะ ข้ามพ้นการจัดโลกให้เป็นขาวล้วนดำล้วน จัดเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ  มันทำให้ผมไม่ไปเลือกข้างในการขัดแย้งทางการเมือง แต่พยายามที่จะมองว่าเขามีประเด็นที่ดีๆ ตรงไหนที่เราเห็นด้วยได้ หรือว่าตรงไหนที่เขาทำไม่ถูกเราก็วิจารณ์ ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมไม่มีจุดยืน แต่มันหมายความว่าผมมีจุดยืนอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ถูกใจคนที่เขาเลือกข้างเต็มร้อยในแต่ละสีแต่ละฝ่าย อันที่จริงผมมีความรักความห่วงใยทุกคนทุกฝ่าย แล้วก็พยายามที่จะอดทนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เรารู้สึกบ่อยครั้งก็ไม่ เป็นธรรมกับเราเท่าไหร่นัก
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไหนที่อาจารย์รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับอาจารย์ในภาวะแบบนี้ครับ
 
เสก สรรค์ ประเสริฐกุล : หนึ่งคือในลักษณะว่าไม่เอาใจใส่เรื่องบ้านเมือง ซึ่งไม่จริง เราเอาใจใส่มาตลอด สองคือระยะหลัง ผมถูกหาว่าไปเข้าข้างรัฐบาล ขณะคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลหลายคนก็หาว่าไปเข้าข้างฝ่ายค้าน สิ่งเหล่านี้ผมไม่ถึงขั้นโกรธ แต่ว่ารู้สึกรำคาญใจ และไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ว่าจุดยืนของเรามันมีจริง แต่ไม่ได้ยืนเหมือนที่เขาจัดขั้วกันอยู่
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ถ้าอย่างนั้นในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ อาจารย์คิดว่าธรรมะข้อไหนจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย
 
เสก สรรค์ ประเสริฐกุล :  คิดว่าเป็นธรรมะข้อเดียวกับที่ผมปฏิบัติอยู่ ในเวลานี้ผมไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็พยายามใช้ธรรมะ เริ่มจากขันติ คือรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกต่างจากความคิดของเรา จากนั้นผมก็ใช้หลักของเมตตา กรุณา ที่เชื่อมั่นว่าเรามีกุศลเจตนาในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สุดท้ายเมื่อวางอุเบกขา ก็คืออะไรที่เราทำได้ก็ทำ อะไรที่เราทำไม่ได้ก็รู้จักสงบจิตสงบใจลง ผมก็เลยทำงานหนักเพิ่มขึ้นมาได้อีกหน่อยนึง หลังจากที่มีงานอื่นๆ อยู่แล้ว ผมคิดว่าหลักธรรมกับการใช้ชีวิต รวมทั้งการเมืองไม่ควรแยกจากกัน
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต อาจารย์อยากใช้ชีวิตไปในมิติไหนมากที่สุด
 
เสก สรรค์ ประเสริฐกุล :  ถ้าเลือกได้ ผมอยากจะปลีกวิเวก ถือสันโดษ ซึ่งที่จริงผมทำมาหลายปี แต่เวลานี้บ้านเมืองมีทุกข์ร้อน ผมก็ต้องกลับมาสู่หลักของการกลับมาช่วยผู้อื่นดับทุกข์ด้วย ตัวเราเองก็จะต้องฝึกแสวงหาความสงบท่ามกลางความสับสน อย่างที่เรียนตั้งแต่ต้นว่าในระหว่างที่ไปทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมือง เราก็ทำเพื่อตัวเองด้วยการปฏิบัติธรรม ใช้หลักธรรมมาทำให้ตัวเองสามารถผ่านความร้อนรุ่มของปัญหาต่างๆ ในแต่ละวันได้ ถือเป็นการเรียนรู้อีกแบบนึงที่มีค่าต่อชีวิตผมเช่นเดียวกัน
 
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : อาจารย์ อ่านหนังสือต่างประเทศมา มาก ในต่างประเทศบางทีเมื่อนักเขียนเสียชีวิต เขาจะมีคำจารึกที่หน้าหลุมศพ วันนึงเมื่ออาจารย์ได้จากไป ถ้ามีคนอยากจะเขียนอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือโดยความปรารถนาของอาจารย์ อาจารย์อยากให้คำนั้นที่เขียนถึงคืออะไรครับ
 
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ขอให้เป็นกิเลสของผู้อื่นก็แล้วกันนะ คุณอย่ามาถามผมถึงเรื่องพวกนี้เลย

เรื่องจาก : http://www.onopen.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น