วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อเราสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ เราจะทำอย่างไร

วิธีช่วยเหลือเด็กไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ
เมื่อเราสงสัยหรือทราบว่าเด็กถูกล่วงเกินทางเพศ เราจะทำอย่างไร ต่อไปนี้คือวิธีช่วยเหลือเด็กที่เราให้คุณไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ

1. เมื่อเด็กแสดงท่าทีว่าต้องการบอกเล่าเรื่องที่เขารู้สึกมีปัญหาหรือขอความ ช่วยเหลือ อย่าผัดผ่อนเพราะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่อาจเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ควรแสดงตัวว่าพร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือเด็กได้ในทุกกรณี ให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจว่าเขาจะได้รับการช่วยเหลือและคุ้มครอง เสมอ ไม่มีปัญหาใดที่ร้ายแรงเกินกว่าที่เราจะรับฟังและปกป้องเด็ก

2. แม้ว่าเรื่องที่เด็กเล่าจะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแรงจนเหลือเชื่อ ก็ขอให้ตั้งสติรับฟังอย่างสงบ หากเราแสดงอาการตกใจ โกรธ หรือเสียใจ เด็กอาจจะหยุดไม่บอกเล่าต่อไปอีก เพราะเกิดความไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยเขาได้จริง หรือจะทำให้เขาเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่

3. กรณีที่เด็กบอกเล่าไม่ได้ต่อเนื่องเพราะปัญหาด้านจิตใจหรืออารมณ์ คอยปลอบโยน ให้กำลังใจเด็ก ให้เด็กสบายใจว่าหากเขาบอกเล่าออกมาทั้งหมด
เขาจะได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยและได้รับความช่วยเหลือทุกเรื่อง อย่าขัด โต้แย้ง หรือคัดค้านเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่าเราไม่เชื่อหรือไม่รับฟังเรื่องที่เกิดขึ้น ปล่อยให้เด็กพูดเรื่องที่เขาต้องการบอกเล่าทั้งหมดก่อน แล้วค่อยซักถามรายละเอียดที่เรารู้สึกว่าเป็นคำบอกเล่าที่ไม่ชัดเจน

4. แม้ว่าเด็กไม่ยอมบอกเล่าว่าผู้กระทำเป็นใคร ไม่ต้องคาดคั้น แต่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้าเด็กจะถูกกระทำ และหลังจากถูกกระทำ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำหรือความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้กระทำ เท่าที่จะทำได้ เพื่อกำหนดวงของผู้ต้องสงสัย การที่จะทราบว่าผู้กระทำเป็นใครไม่จำเป็นต้องให้เด็กระบุตัวหรือบอกชื่อเสมอ ยังมีวิธีการค้นหาวิธีอื่นอีกมาก

5. วิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาว่าเป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นเรื่องที่ไม่จริง รายละเอียดและข้อเท็จจริงจะไม่ชัดเจน หรือไม่ปะติดปะต่อ การเล่าหลายครั้งจะไม่ตรงกัน หรือบางครั้งเป็นเรื่องจริงแต่รายละเอียดอาจไม่ชัดเจน หรือไม่ปะติดปะต่อกันก็เป็นไปได้ เพราะเด็กอาจมีความสามารถในการสื่อสารน้อย หรือยังมีปัญหาด้านอารมณ์จิตใจอยู่ หลังจากวิเคราะห์แล้ว ให้หาวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป เช่น รีบพาเด็กไปรับคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ เป็นต้น

6. พาเด็กไปไว้ในที่ปลอดภัย และมีหลักประกันให้เด็กว่า จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างปลอดภัย

7. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่นเสื้อผ้าที่เด็กสวมใส่ขณะที่ถูกล่วงเกินทางเพศ ขนเพชร ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย หรืออื่นๆที่ผู้กระทำความผิดทิ้งร่องรอยไว้ อย่าลืมตรวจดู ร่องรอยความเสียหายที่ร่าง กายของเด็ก และถ่ายภาพด้วย ( ถ้าสามารถทำได้ และต้องบอกเหตุผลให้เด็กรู้ว่าจะใช้ในการช่วยเหลือเด็ก ) ส่งเด็กเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดทันที อย่าเพิ่งชำระล้างร่างกายเด็กก่อนรับการตรวจรักษา จดชื่อแพทย์ รวมไปถึงวันเวลาและสถานที่ขณะตรวจรักษาไว้ด้วย กรณีที่ทราบข้อมูลจากเด็กหลังเกิดเหตุการณ์ไม่เกิน 7 วัน อาจยังมีีหลักฐาน ร่องรอยตกค้างอยู่ แพทย์อาจค้นพบได้ หากเกิน 7 วันอาจไม่พบร่องรอยของการล่วงเกินทางเพศ แต่ต้องตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตวจสอบการตั้งครรภ์ด้วย

8. แจ้งตำรวจทันที ให้รายละเอียดเท่าที่ทราบ ( ผู้กระทำเป็นใคร ผู้ถูกกระทำเป็นใคร เวลา สถานที่เกิดเหตุ ฯลฯ ) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเด็กคนอื่นๆ

9. แจ้งหน่วยงานทางสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับบริการต่อไป

(ที่มา: คู่มือตัวฉันเป็นของฉัน สำหรับผู้ใหญ่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น